วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การกระตุ้นพัฒนาการของทารกในครรภ์

การกระตุ้นพัฒนาการของทารกในครรภ์
          ทารกในครรภ์สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และสภาพแวดล้อมที่ดี การที่แม่พยายามสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อลูกในครรภ์ จึงเป็นการส่งเสริมความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก แม่ที่อารมณ์ดีจะทำให้ทารกอารมณ์ดีเช่นกัน สภาพแวดล้อมที่พอเหมาะจะพัฒนาเซลล์สมองทารกให้มีขนาดใหญ่ มีเส้นใยประสาทมากขึ้น เป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์ในด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา
แนวทางการเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์
ระบบการได้ยิน
           ประมาณอายุครรภ์ 24-26 สัปดาห์ขึ้นไป ระบบการได้ยินของทารกจะมีการพัฒนาเต็มที่โดยรับรู้และตอบสนองต่อเสียงที่อยู่รอบตัวได้ ดังนั้นจึงมีการนำเอาเสียงภายนอกมาช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของทารกในครรภ์ วิธีการนี้จะทำให้ทารกเคยชินต่อเสียง และเป็นการพัฒนาภาษาพร้อมกันไปด้วย
          a. การใช้เสียงดนตรี
           ตามปกติแล้วจะมีเสียงต่างๆ ผ่านเข้ามาถึงตัวทารกที่อยู่ในท้องแม่ตลอดเวลา เสียงที่เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้ทารกควรเป็นเสียงดนตรีที่มีทำนองและจังหวะเบาๆ เช่น เพลงบรรเลง อาจเป็นเพลงคลาสสิกหรือเพลงไทยเดิมก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ที่มากกว่า 24 สัปดาห์ เพราะประสาทสัมผัสและระบบการได้ยินของทารกจะพัฒนาค่อนข้างสมบูรณ์ในช่วงนั้น (ทารกที่คลอดออกมามีพัฒนาการด้านร่างกายและไอคิวสูง เลี้ยงง่าย มีอารมณ์แจ่มใสและมีความผูกพันกับแม่)
          ทารกมักแจ่มใสและเคลื่อนไหวในเวลาเย็น เป็นเวลาที่ทารกตื่นตัว พร้อมที่จะรับฟังเสียงได้ โดยสังเกตได้จากการดิ้นของทารก ซึ่งแสดงว่าทารกยังไม่หลับจะเป็นช่วงที่เหมาะสม
          แนวทางปฏิบัติ ให้เปิดเทปเพลงบรรเลงเย็นๆ ให้แม่และทารกในครรภ์ฟังไปพร้อมกัน เปิดเพลงวันละครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที ก็เพียงพอแล้ว ถ้าเปิดซ้ำบ่อยๆทารกจะคุ้นชินและจดจำเพลงได้ หลังคลอดเมื่อเปิดเพลงเดิมนั้นอีก จะช่วยให้ทารกไม่ร้องกวนและหลับง่ายขึ้น เนื่องจากความเคยชินต่อเสียงเพลงนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

2. เสียงพูดคุยของมารดา
          เสียงของแม่ถือได้ว่าเป็นเสียงธรรมชาติและเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพของทารกในครรภ์ได้ เสียงที่นุ่มนวล เสียงร้องเพลง จะช่วยให้ทารกจดจำเสียงนั้นได้ดีขึ้น
          แนวทางปฏิบัติ ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์พับเป็นรูปปากกรวย ปลายส่วนที่แคบเป็นทางเข้าของเสียงแม่ ส่วนปลายกว้างไว้จ่อบริเวณหน้าท้องเพื่อให้ทารกรับฟัง หรือใช้เครื่องมือพูดคุยกับทารกในครรภ์ที่เรียกว่า Infant Phone ซึ่งมีปลายหนึ่งไว้ให้มารดาพูด ส่วนอีกปลายหนึ่งไว้ครอบที่หน้าท้อง บริเวณใกล้ศีรษะของทารกในครรภ์ก็ได้ โดยแม่อาจเล่านิทานหรือร้องเพลงกล่อมทารกบ่อยๆ เพื่อให้ทารกชินกับนิทานหรือเพลงขับกล่อมนั้นๆ ตั้งแต่ในครรภ์ เมื่อคลอดแล้วมารดาสามารถนำนิทาน หรือเพลงขับกล่อมนั้นมาช่วยทำให้ทารกสงบและหลับง่ายขึ้น

ระบบรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหว
          ทารกจะมีการเคลื่อนไหวและได้รับการสัมผัสตลอดเวลาที่อยู่ในครรภ์ โดยเฉพาะขณะที่แม่ขยับตัว หรือลูบและสัมผัสทารกในครรภ์โดยผ่านทางหน้าท้องนั้น ผิวของทารกจะสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูก ทุกสัมผัสที่เกิดขึ้นจะพัฒนาเส้นใยประสาทของสมองส่วนรับความรู้สึก เพิ่มประสิทธิภาพและความไวในการรับรู้ของทารก เพื่อเตรียมพร้อมให้ใช้งานได้ดีในช่วงหลังคลอด ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างความอบอุ่น และความผูกพันระหว่างแม่ลูก
          การที่แม่นั่งบนเก้าอี้โยกไปมานั้น นอกจากจะกระตุ้นเซลล์สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวแล้วยังทำให้ทารกในครรภ์ได้ปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
          แนวทางปฏิบัติ ให้แม่ลูบหน้าท้อง และนั่งโยกบนเก้าอี้ได้ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ทารกยัง ไม่สามารถรับรู้ แต่แม่จะรู้สึกผ่อนคลายขณะนั่งเล่นบนเก้าอี้โยก และรู้สึกผูกพันกับทารกขณะลูบหน้าท้องตัวเอง จนเมื่ออายุครรภ์ 5 เดือนขึ้นไป ระบบประสาทการเคลื่อนไหวของทารกจะมีความพร้อมต่อการรับรู้การสัมผัสของแม่

ระบบการมองเห็น
          ทารกจะพัฒนาเต็มที่ และรับรู้ผ่านการมองเห็นได้เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทางการแพทย์จะใช้แสงสว่างส่องผ่านเข้าไปถึงทารกในครรภ์โดยผ่านทางปากมดลูก เพื่อดูการตอบสนองของการเต้นของหัวใจ และทดสอบความแข็งแรงสมบูรณ์ของทารกในครรภ์
          ถ้าการเต้นของหัวใจทารกเร็วขึ้นตอนส่องไฟ แสดงว่าทารกสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าดีและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ในทางตรงข้าม หากให้แสงแล้ว การเต้นของหัวใจทารกไม่สูงขึ้น แสดงว่าทารกในครรภ์อาจมีปัญหาเกิดขึ้น สำหรับการใช้ไฟส่องผ่านทางหน้าท้องของมารดานั้น ยังไม่มีรายงานวิจัยทางการแพทย์ว่าสามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น