วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เด็กออทิสติกพัฒนาได้...หากรู้วิธี

วาไรตี้ น้ำตา เสียงถอนหายใจ สายตาที่เปล่งแววกังวล ท่าทีที่เหนื่อยล้า ท้อแท้ หนักใจ ผสมกับความผิดหวังและสิ้นหวัง มักมีปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในพ่อ แม่ ที่มีลูกเป็นกลุ่มเด็กที่เรียกกันว่า เด็กออทิสติก พ.ญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวถึงเด็กออทิสติกให้ฟังว่า ทางแพทย์เรียกเด็กกลุ่มที่เป็น โรคออทิซึม (Autism) ว่า เด็กออทิสติก (Autistic Child) โดยโรคออทิซึม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในสมองที่มีการพัฒนาการล่าช้าของเด็ก ส่งผลให้มีความย่อหย่อนของประสาทการรับรู้ ทำให้พูดช้าและแยกตัวออกจากสังคม ความย่อหย่อนนี้จะขัดขวางหรือแปลผลข้อมูลที่รับรู้จากสายตา การได้ยินและประสาทสัมผัสอื่น ๆ ผิดพลาดจากปกติ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาการทางการพูดและการสื่อสารของเด็กเป็นอย่างมาก จากการวิจัยเชื่อกันว่า มีความผิดปกติบางอย่างในสมองของเด็กกลุ่มนี้ ส่วนอะไรที่เป็นตัวการและเกิดปัญหาอยู่ตรงตำแหน่งใดในสมองนั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยอยู่ แต่เท่าที่มีการวิจัยออกมาพบสาเหตุของโรคนี้ได้ 3 รูปแบบ คือ สาเหตุแรก เกิดจากมีพยาธิสภาพที่ผิดปกติในสมอง จึงเป็นเหตุให้เกิดอาการเฉพาะออกมา ซึ่งจะพบอาการออทิสติกร่วมกับเด็กที่มีเนื้อสมองอักเสบในวัยทารก ในเด็กที่เกิดจากแม่เป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ หรือในเด็กที่ขาดอากาศขณะคลอด เมื่อตรวจคลื่นสมองมักพบว่า มีความผิดปกติได้สูง 30-40 เปอร์เซ็นต์ และพบว่า มีสารซีโรโทนินสูงกว่าเด็กอื่น บางรายอาจพบความผิดปกติชัดเจนจากการตรวจเอกซเรย์พิเศษที่ระบบประสาท สาเหตุต่อมา คือ ไม่มีพยาธิที่ชัดเจน แต่มีผลกระทบต่อการทำงานของสมองโดยผ่านทางสารเคมีที่มีระดับผิดปกติ สาเหตุสุดท้าย เกิดจากกรรมพันธุ์ เนื่องจากพบโรคนี้ร่วมกับโรคที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ เช่น Tuberous Sclerosis และพบออทิสติกในครอบครัวได้ คนในครอบครัวรุ่นต่อไปจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ ได้มากกว่าคนปกติ 50 เท่า และมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติอื่น ๆ ได้อีก เช่น ความบกพร่องทางภาษา หรือสังคม จำนวนเด็กออทิสติก พบได้ในเด็กทั่วโลก ไม่จำกัดพื้นฐานทางสังคม ในประเทศไทยพบ 4-5 คน ในจำนวนเด็กที่เกิดมา 10,000 คน เป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4 เท่า ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่ามีเด็กออทิสติกและกลุ่มอาการคล้ายออทิสติกอยู่ในสังคมประมาณ 50-60 ต่อ 10,000 คน โดยศึกษาในเด็กวัย 8-10 พบว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมที่ผิดปกติอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการมีพฤติกรรมที่ทำซ้ำซาก ขาดจินตนาการในการเล่น มีพัฒนาการทางสังคมช้ากว่าอายุจริงและแยกตัวโดดเดี่ยวชัดเจน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะมีความผิดปกติบางอย่าง หรือมีเพียงเล็กน้อย หนึ่งในเด็กที่เป็นโรค ออทิสติก น้องโอ๊คอายุ 7 ขวบ ไม่ยอมสบตากับใคร สีหน้าเรียบเฉยไร้ความรู้สึก ไม่เล่นกับใครและไม่มีใครอยากเล่นด้วย เพราะเมื่อเพื่อนมาอยู่ใกล้ ๆ โอ๊คจะข่วนหน้าและทำร้ายโดยไม่มีสาเหตุที่ทำให้ต้องทำร้ายเพื่อนเลย หลังจากที่ทำร้ายเพื่อน สีหน้าของน้องโอ๊คก็ยังคงเรียบเฉย ไม่ไยดีกับเสียงร้องไห้หรือความเจ็บช้ำน้ำใจที่ตัวเองก่อขึ้นมากับผู้อื่น รวมทั้งน้องเจนสาวน้อยหน้าตาดีส่งเสียงเป็นมนุษย์ต่างดาวอยู่ตลอดเวลา ช่วงแรก ตอนเจนยังเล็ก ๆ คุณแม่ดีใจว่าเจนสามารถเรียนรู้ภาษาต่างประเทศได้เร็ว แต่เมื่อจับรายละเอียดของเสียงที่เปล่งออกมา พบว่า ไม่เป็นภาษาของชาติใดๆ ในโลก เจนส่งเสียงในทุกที่ ทุกเวลาจนกว่าจะหลับ ใครพูดหรือไม่ได้พูดด้วย เจนก็ส่งเสียงดูคล้ายกับพูดด้วย โดยที่น้องเจนจะมายืนใกล้ ๆ มองหน้าด้วยแววตาที่ว่างเปล่า มองผ่านไร้แววจดจำ มองอย่างผิวเผิน เจนจะเป็นเด็กที่เข้าสังคมได้ดี ช่างพูด เพียงแต่พูดไม่รู้เรื่องเท่านั้น เข้าไปในห้องเรียนสามารถทำตามที่คุณครูสั่งได้ แต่ก็ยังส่งเสียงต่าง ๆ ไปด้วย ไม่สุงสิงหรือเล่นกับใคร ยกเว้นจะเข้าไปเพื่อพูดตามที่ตัว เองต้องการโดยไม่สนใจว่า คนที่เข้าไปพูดด้วยจะเข้าใจ หรือทำท่ารำคาญหรือไม่ ตอนแรก ๆ ทุกคนในโรงเรียนต่างหัวเราะเยาะและเพื่อน ๆ ล้อ แต่เจนก็ไม่เข้าใจและยังคงทำพฤติกรรมนี้ต่อ จนใคร ๆ ที่ โรงเรียนต่างเบื่อหน่ายกับเสียงของเจน จะเห็นได้ว่าเด็กมีความผิดปกติในด้านการพูด และการสื่อภาษา การแสดงท่าทางที่บอกถึงความหมายต่างๆ ให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ มีโลกส่วนตัว ไม่สบตาหรือมองหน้าคนที่พูดด้วย ซึ่งส่งผลกระทบกับการพัฒนาการด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะการเข้าสังคม ไม่สนใจคน ไม่สนใจของเล่น ไม่สามารถเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน ขาดจินตนาการ นอกจากนั้นยังไม่สนใจคนรอบข้าง มักพบการเล่นมือโบกมือไปมา เดินจิกเท้า หรือเพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ๆ เล่นซ้ำ ๆ และทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ ถ้าใครมาเปลี่ยนจะกรีดร้องราวกับมีเรื่องใหญ่โต ทั้งหมดส่งผลทำให้เด็กไม่สามารถปรับตัวอยู่ในคมได้ จะเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก มีสภาพผิดปกติที่ยาวนาน บางคนอาจเป็นตลอดชีวิต แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กเหล่านี้จะเรียนรู้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าโรคออทิสติก จะเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมอง ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวสูงมากโดยเฉพาะผู้เป็นพ่อ-แม่ แต่การฝึกกระตุ้นพัฒนาการอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทางกาย ตา หู จมูก และลิ้น จากการให้หันตามเสียงเรียก การสอนให้รู้จักสมาชิกในบ้าน การจับมือเด็กให้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น การฝึกทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กสามารถทำกิจกรรมที่ต้องการทำได้ด้วยตัวเองเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กและช่วยลดปัญหาทางด้านอารมณ์ได้ด้วย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การฝึกพูด ฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้ การออกกำลังกาย ดนตรี กิจกรรมเข้าจังหวะ การเรียนการสอนเฉพาะตัวบุคคล จะเป็นแนวทางในการช่วยเหลือส่งเสริมให้เด็ก ๆ เหล่านี้พัฒนาต่อไปในอนาคตได้ สิ่งสำคัญ คือ ไม่ควรรีบเร่งสอนและบังคับเด็กในการเรียนรู้มากจนเกินไป จะทำให้เด็กปฏิเสธได้ นอกจากจะไม่รับการเรียนรู้แล้ว ยังมีปัญหาทางด้านอารมณ์และมีพฤติกรรมที่ผิดปกติอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วย ฉะนั้นการวางแผนให้เด็กได้เรียนและเข้าสังคมร่วมกับเด็กปกติได้นั้น พ่อ-แม่จะต้องประสานงาน กับแพทย์ และครูอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันช่วยเหลือเด็กด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้เด็กออทิสติกเหล่านี้มีพัฒนาการในการเรียนรู้ได้อย่างดีและสามารถอยู่ในสังคมได้ตามปกติ ถนนไปสู่ความหวัง คงต้องอาศัยมือของพ่อ-แม่ เป็นหลัก ในการช่วยประคับประคองลูกให้ก้าวผ่านบทเรียนแต่ละบทไปให้ได้ เหนื่อยนักก็หยุดพัก เชื่อว่าเมื่อเดินมาอย่างถูกทาง ความสำเร็จย่อมรออยู่ที่เส้นชัย....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น